ตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลีเป็นตลาดน้ำแห่งแรกที่มีชื่อเสียงระดับโลก พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี พ.ศ.2452 ว่า " ในลำคลองระยะหลัก 1 หลัก 2 จนกระทั่งหลัก 3 เดิมเป็นจากและปรงเดี๋ยวนี้มีจากและปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก 1 เป็นไร่นาไปหมด ได้ความว่าดีมาก ตามลำคลองมีตลาดเกิดขึ้นใหม่ถึงสามระยะ นับว่าไม่มีที่ว่าง ว่าคนราชบุรียกลงมาตั้งแถบคลองดำเนินสะดวกนี้มาก " ตลาดน้ำที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกบนสายคลองขุด(ตลองดำเนินสะดวก)นี้คือ "ตลาดน้ำดำเนินสะดวก " ปากคลองลัดราชบุรีหรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า คลองลัดพลี แต่เดิมมีชื่อเรียกกันติดปากว่า ตลาดนัดศาลาห้าห้องบ้าง ตลาดนัดศาลาแดงบ้าง หรือตลาดนัดหลักแปดบ้าง ที่เรียกดั่งนี้ ก็ด้วยตรงจุดอันเป็นตลาดน้ำเดิม ที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ (ช่วง บุนนาค) ได้ให้ปลูกศาลาเป็นไม้มี 5 ห้องหลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง สร้างให้เป็นที่พักคนงาน จุดนี้จึงมีผู้คนหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ต่อมาจึงกลายเป็นตลาดนัดสำคัญแห่งหนึ่งคู่กับตลาดนัดปากคลองซึ่งมีมาเก่าแก่ก่อนขุดคลองดำเนินสะดวก
           บรรยากาศร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ทางเรือ ที่พระสงฆ์พายเรือออกมาจากวัด มาบิณฑบาตรกับท่านทางน้ำแวะชมตลาดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการขุดคลองดำเนินสะดวกเป็นแหล่งชุมชนที่กุลีคนจีนขุดคลองพำนักอาศัยอยู่ และต่อมาเป็นแหล่งค้าขายของลูกหลานคนจีน และแวะชิมอาหารและผลไม้ของชาวดำเนินสะดวก ไม่ว่าจะเป็น ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ข้าวแห้ง ข้าวต้มไก่ หอยทอด ก๋วยจั๊บดำเนิน ไอติมกะทิโบราณ หวานเย็น และผลไม้ที่มีชื่อเสียงของดำเนิน เช่น มะม่วงอกร่อง ชมพู่ ฝรั่งแวะกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์ที่คนจีนไหหลำและคนจีนแต้จิ๋วที่เลื่อมใสศรัทราในองค์เจ้าแม่ทับทิม ที่ศาลเจ้าจุ้ยบ่วยเนี้ย และ องค์เจ้าแม่ฉื่อปุ่ยเนี้ยและไต่เสี่ยที่ศาลเจ้าตี่ลิ่วยี่
           ยามบ่ายคล้อยเย็นถ้าท่านมีเวลา ต้องการสัมผัสใกล้ชิดกับน้ำในคลอง เรามีบริการเรือพายเรือแจวให้ได้พักผ่อนหรือจะเป็นกัปตันพายเองก็ได้ หรือลงเล่นน้ำในคลองก็เพลิดเพลินดี
           แวะเดินและชมวิถีชนบทบ้านเรือนผู้คน 2 ฝั่งคลองลัดพลีอันเป็นบรรยากาศที่อบอวลกลิ่นอายชนบทริมคลอง อันน่าหลงใหลที่หาดูได้ยาก หรือจะนั่งกินลมชมสายน้ำริมฝั่งคลอง ลมพัดโชยโชย เรามีอาหารว่างและเครื่องดื่มคอยบริการ
           แวะกราบไหว้องค์หลวงพ่อโตวัดราษฎร์เจริญธรรม(วัดสุน)ที่ปัจจุบันเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของคนจำนวนมากและถ้าต้องการพักค้างคืน ซึมซับบรรยากาศอันเงียบสงบของลำน้ำเรามีที่พักแบบโฮมสเตย์ให้ท่านได้สัมผัส
           แวะสัมผัสความตื่นเต้นและเร้าใจของฉากการต่อสู้ระหว่างงูเห่ากับพังพอนที่หาดูได้ยากในที่แห่งนี้

 

.

           อำเภอดำเนินสะดวก ในสมัยก่อนเป็นที่ราบลุ่ม มีป่าดงไผ่ และต้นเสือหมอบ ไม่มีคลองมากมายเหมือนเช่นในปัจจุบัน มีคลองธรรมชาติ เช่น คลองบางป่า คลองแพงพวย คลองสี่หมื่น คลองบางพัง คลองบางนกแขวก ซึ่งแต่เดิมเป็นทางเกวียน มีน้ำไหลผ่านเฉพาะในฤดูน้ำหลาก เมื่อถึงฤดูแล้งจะไม่มีน้ำเลย  ในสมัยรัชการที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า “ การไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญ ไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯสมุทรสงคราม และราชบุรี ให้สะดวกขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง” ในปี พ.ศ 2409 (ปีขาล อัฐศก ร.ศ 85 จ.ศ 1228) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุญนาค) เมื่อครั้งขึ้นรับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประสาทสิทธิ์ ที่สมุหพระกลาโหมเป็นผู้อำนวยการขุดคลองนี้ โดยใช้กำลังทหาร ข้าราชการและประชาชนร่วมกันขุด การขุดดินนี้ใช้กำลังแรงงานของคนล้วน ๆ
           จากคำบอกเล่าของพระคุณท่าน หลวงพ่อพระครูวิชัย ศีลคุณ (กลม คุณสีโล) อดีตเจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม (อ้างโดย พระครูสิริวรรณวิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดหลักหกรัตนาราม) ว่า “ที่ทำการขุดคลอง กันจริงๆ ส่วนมากจะเป็นคนจีน ที่มาอยู่ในเมืองไทยใหม่ ๆ เป็นผู้รับจ้างขุด หากเดือนหงายกลางคืน จะขุดกันทั้งคืน คนจีนสมัยนั้น ส่วนมากจะไว้ผมเปีย เมื่อทำงานตอนกลางคืนจะนุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว ขุดดินใส่บุ้งกี๋แล้วก็หาบดิน หรือแบกดินนั้น เอาขึ้นไปทิ้งนอกเขต ที่ต้องการ กลางคืนอากาศดี ไม่ร้อน ทำงานได้ดีตลอดทั้งคืน แล้วมาพักผ่อนตอนกลางวัน”
           การขุดคลองเริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2409 คลองที่ขุดเป็นคลอง กว้าง 6 วา (12 เมตร) ลึก 6 ศอก (3 เมตร) ยาว 895 เส้น หรือ 35 กิโลเมตร 800 เมตร (ตามหลักฐานของกรมชลประทาน เขียนบอกระยะทางไว้ที่ปากคลอง ออกแม่น้ำแม่กลอง ) ทุก ๆ 100 เส้น (4 กิโลเมตร) ได้ปักเสาหินไว้ 1 ต้น ทางฝั่งทิศใต้ของคลอง เริ่มจากตำบลสวนส้ม (เดิมชื่อตำบลดำเนินสะดวก) เป็นหลักที่ 0 ถึงหลักที่ 8 ที่แม่น้ำแม่กลอง แต่ละหลัก จะสลักและเขียนสีแดงเป็น 3 ภาษา คือ เลขไทย โรมัน จีน บอกเลขไว้ทุกหลัก

           หลักเขตนี้อยู่ในเขตอำเภอ บ้านแพ้ว จำนวน 5 หลัก คือ หลัก 0 ถึงหลัก 2 อยู่ในเขตตำบลสวนส้ม หลัก 3 อยู่ในเขตตำบลหลักสาม หลัก4 อยู่ในเขตตำบลยกกระบัตร และหลัก5 อยู่ตรงเขตแดนระหว่างตำบลโรงเข้ กับตำบลปราสาทสิทธิ์ หลักที่ 5 ถึงหลักที่ 7 อยู่ในเขตอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และหลักสุดท้าย หลักที่ 8 อยู่ในเขตอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
           เมื่อทำการขุดคลองนี้สำเร็จแล้ว จึงนำแผนขึ้นทูลเกล้า ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 ซึ่งทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงทรงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “คลองดำเนินสะดวก” และได้ทำพิธีเปิดใช้คลองนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 ตรงกับวันจันทร์ เดือน 7 ขึ้น 4 ค่ำ (จากหลักฐานพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ 4 เล่ม 2 หน้า 126 ของเจ้าพระยาทิ
พากรวงศ์)
           ค่าใช้จ่ายในการขุดคลอง รวมค่าจ้างขุด ค่าตอไม้ เป็นเงิน 1,400 ชั่ง หรือ 112,000 บาท โดยได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชการที่ 4 จำนวน 400 ชั่ง จาก ฯพณฯ หัวเจ้าท่านสมุหพระกลาโหม จำนวน 1,000 ชั่ง ใช้เวลาในการขุด ประมาณ 2 ปีเศษ

 

           เรื่องการเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายไว้มีความว่า
           พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯ ในการเสด็จประพาสต้นตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี บางคราวก็เสด็จไปเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ ไม่โปรดฯให้จัดการรับเสด็จเป็นทางการ ที่เรียกว่า “เสด็จประพาสต้น” โปรดฯให้จัดการที่เสด็จไปใช้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ คือ ไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น
           บางทีทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไป มิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 123 ( พ.ศ 2447 ) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5 เสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ 2447 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้นำเรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่าหน้าวัดโชติทายการาม หลวงพ่อช่วง ( พระอธิการช่วง เจ้าอาวาส ) ได้ทราบว่าในหลวงเสด็จ จึงนำพระลูกวัด 4 - 5 รูป ลงมาสวดชัยมงคลต้อนรับ รู้สึกเป็นที่พอพระราชหฤทัย ได้ตรัสถวายเงินบูรณะวัด 10 ชั่ง และถวายพระสงฆ์ รูปละ 1 ตำลึง และโปรดเกล้าให้มหาดเล็กจัดที่ประทับแรมบนศาลาการเปรียญ ให้พนักงานเครื่องต้น ประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ณ ที่ศาลาท่าน้ำ
           ในตอนบ่ายวันนั้น เวลาประมาณ 3 โมงเศษ พระองค์พร้อมด้วยขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จทรงเรือมาดพาย (แบบเรือมาดกระสวย) พายไปตามลำพัง โดยไม่มีผู้ติดตาม ทั้งนี้เพราะพระองค์อยากจะทราบความเป็นอยู่ สารทุกข์สุขของราษฎรของพระองค์ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่า น้ำหลากมาท่วมมาก มองไม่เห็นพื้นดิน เป็นน้ำขาวเวิ้งว้างไปหมดทุกสารทิศ ผลไม้ในนาไร่และสวนถูกน้ำท่วมจนหมดสิ้น พระองค์ได้ทรงเสด็จ เข้าไปทางคลองลัดราชบุรี
           ขณะนั้นบ้านเรือนราษฎรไม่มี วัดราษฎร์เจริญธรรมยังไม่ได้สร้าง มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่หนึ่งหลัง (ศาลเจ้าแม่ทับทิมเก่า)  แล้วทรงเลี้ยวเรือพระที่นั่งไปทางซ้ายมือผ่านบ้านราษฎร ห่างๆ จะมีสักหลังหนึ่งเห็นเงียบไม่มีคนอยู่ จึงมิได้เสด็จแวะเยี่ยม เมื่อเสด็จมาถึงบ้านนางผึ้ง แซ่เล้า ทอดพระเนตรเห็นเจ้าของบ้านนำเอา หอม กระเทียม ไปตากบนหลังคาเรือน พอเห็นเรือคนแปลกหน้า เข้าใจว่าเป็นพวกขุนนาง ก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน
           พระองค์จึงเสด็จขึ้นบ้านของนางผึ้ง ขณะนั้นนางผึ้งหุงข้าวสุกพอดี จึงเรียกลูกชาย คือ “เจ็กฮวด” ขณะนั้นอายุประมาณ 20 ปีเศษ ให้ยกกระบะใส่กับข้าว ยกหม้อข้าว แล้วร้องเชิญให้พระองค์เสวย ในขณะที่รัชกาลที่ 5 กำลังเสวย เจ็กฮวดซึ่งมานั่งยอง ๆ ดูพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็หันไปดู พระบรมฉายาลักษณ์ ที่หิ้งบูชา ดูแล้วดูเล่า แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก ขอรับ” พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสถามว่า “ คล้ายนัก คล้ายนัก คล้ายอะไร” เจ็กฮวดบอกว่า คล้ายรูปที่บูชาไว้
           พูดแล้วเจ็กฮวดก็เอาผ้าขาวม้าปูกราบพระองค์ท่าน นางผึ้งเห็นลูกชายกราบ ก็กราบตาม พระองค์ตรัสว่า “ แน่ใจหรือ” เจ็กฮวดก็ตอบว่า “ แน่ใจขอรับ” พระองค์จึงตรัสชมเจ็กฮวดว่า “ ฉลาดและตาแหลมดี จะให้เป็นมหาดเล็กเอาไหม” นายฮวดพยักหน้าและกราบทูลว่า “ เอาขอรับ” แล้วจึงตรัสสั่งให้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เชิญพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เจ็กฮวด แซ่เล้า เป็นมหาดเล็กของพระองค์ แล้วรับสั่งให้เข้าไปเยี่ยมพระองค์ท่านที่บางกอกบ้าง ตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านในคลองดำเนินสะดวก จึงเรียกเจ็กฮวด แซ่เล้า ว่า เจ๊กฮวดมหาดเล็ก

 

                             
          ประวัติความเป็นมาของตลาดน้ำแห่งนี้เกิดขึ้นควบคู่กับการเกิดคลองดำเนินสะดวกที่ถูกขุดขึ้นด้วยฝีมือ และแรงงานของคนไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ขุดขึ้น เมื่อ ปี พ.ศ.2409 เพื่อเชื่อมแม่น้ำท่าจีนกับแม่น้ำแม่กลอง เริ่มตั้งแต่ประตูน้ำบางยาง แม่น้ำท่าจีน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ถึงประตูน้ำบางนกแขวก แม่น้ำแม่กลอง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม มีความยาว 35 กม.
           คลองลัดราชบุรีหรือคลองลัดพลีถูกขุดขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อเป็นทางลัดในการเดินทางไปยังตัวเมืองราชบุรีในสมัยนั้น ซึ่งช่วยล่นระยะเวลาในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก ภายหลังจากการขุดคลองเสร็จทางราชการได้ย้ายที่ว่าการอำเภอดำเนินสะดวกจากบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองมายังบริเวณปากคลองลัดพลี ทำให้บริเวณปากคลองลัดพลีเกิดเป็นตลาดและมีการค้าขายกันอย่างคึกคัก ทำให้ที่ว่าการอำเภอเดิมคับแคบ ในปี พ.ศ. 2455 ทางการจึงได้มีย้ายที่ว่าการอำเภอไปยังพื้นที่ปัจจุบัน เพื่อเป็นการขยายสถานที่ราชการ
           ตลาดน้ำดำเนินสะดวกเป็นตลาดน้ำแห่งแรก ดังในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาส มณฑลราชบุรี พ.ศ.2452 ว่า " ในลำคลองระยะหลัก 1 หลัก 2 จนกระทั่งหลัก 3 เดิมเป็นจากและปรง เดี๋ยวนี้มีจาก และปรงเข้าไปไม่ถึงหลัก 1 เป็นไร่นาไปหมด ได้ความว่าดีมาก ตามลำคลองมีตลาดเกิดขึ้นใหม่ถึงสามระยะ นับว่าไม่ มีที่ว่าง ว่าคนราชบุรียกลงมาตั้งแถบคลองดำเนินสะดวกนี้มาก "

           ตลาดน้ำที่เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกบนสายคลองขุด(คลองดำเนินสะดวก)นี้คือ " ตลาดน้ำดำเนินสะดวก " ปากคลองลัดราชบุรี หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า คลองลัดพลี แต่เดิมมีชื่อเรียกกันติดปากว่า ตลาดนัด ศาลาห้าห้องบ้าง ตลาดนัดศาลาแดงบ้าง หรือตลาดนัดหลักแปดบ้าง ที่เรียนดั่งนี้ก็ด้วยตรงจุดอันเป็นตลาดน้ำ เดิมทีสมเด็จเจ้าพระยาฯ (ช่วง บุนนาค) ได้ให้ปลูกศาลาเป็นไม้มี 5 ห้อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องสีแดง สร้างให้เป็นที่ พักคนงาน จุดนี้จึงมีผู้คนหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ต่อมาจึงกลายเป็นตลาดน้ำคู่กับตลาดนัดปากคลอง ซึ่งมีมาเก่าแก่ก่อนขุดคลองดำเนินสะดวก 
           ระยะทางระหว่างปากคลองลัดราชบุรีหรือปากคลองลัดพลีไปตามคลองดำเนินสะดวกที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าคลองใหญ่  ไปจนถึงบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ดำเนินสะดวกเธียเตอร์ ใกล้ที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน  เป็นที่เล่ากันว่าในวันนัดท้องน้ำจะคลาคล่ำไปด้วยเรือสินค้า  ทั้งเรือสำปั้น  เรือแปะ  เรือมาด  และเรืออื่นๆ  จอดค้าขายเรียงรายกันยาวนับเป็นกิโลเมตร (น่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ. 2490-2500 ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

            ด้วยความเรียบง่ายและมีเสน่ห์ของ ตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลี ทำให้ในช่วงตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 เริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้ามาเที่ยวชมชีวิต และการค้าขายในตลาดน้ำแห่งนี้กันอยู่บ้าง ส่วนใหญ่มา ได้ด้วยคำบอกเล่าและกิตติศัพท์ที่ร่ำลือ และต่อมาได้มีบริษัทนำเที่ยว จัดนำนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมตลาดโดยตรง ตลาดน้ำดำเนินสะดวกปากคลองลัดพลี เริ่มได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 เป็นต้นมา โดย การส่งเสริมของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากจำนวนบทความนำเที่ยวทั้งที่เป็นภาษาไทยตีพิมพ์ ในนิตยสาร อ.ส.ท.และบทความภาษาอังกฤษที่ลงพิมพ์ใน Holiday Time in Thailand และรวมถึงแผ่นพับการ โฆษณาลงในหนังสือท่องเที่ยวต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก

           ภายหลังจากการคมนาคมสะดวกขึ้น ถนนได้เข้ามาสู่บริเวณตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตั้งแต่ปี 2528 ตลาดน้ำดำเนินสะดวกจึงได้ย้ายจากบริเวณปากคลองลัดพลีไปอยู่คลองต้นเข็ม เป็นศูนย์รวมในการค้าขาย พืชผัก และผลไม้ตามฤดูกาลจากเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรในย่านนั้น โดยตลาดจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณหกโมงเช้า และคึกคักไปจนถึงเวลา 11.00 น. ตลาดก็จะเริ่มวาย ตลาดน้ำคลองต้นเข็ม ได้จัดทำทางเดินที่มีหลังคาตลอดสองฝั่งของตลาด จึงทำให้เดินเที่ยวชมตลาดได้อย่างสบาย ๆ ถ้านั่งเรือพายรอบคลองดำเนินสะดวก จะได้เลือกซื้อสินค้าในคลองได้ง่ายขึ้น สินค้าที่นำมาขายส่วนมากจะเป็นผลไม้ เช่น กล้วย ส้มโอ ชมพู่ ลำไย มะม่วง ฯลฯ ของกินก็มีก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งมีให้เลือกหลายเจ้า
           ในปี 2552 เมื่อถนนเข้าถึงสู่ทุกจุดของอำเภอดำเนินสะดวก จึงได้มีการรณรงค์ฟื้นฟูให้ชุมชนตลาดน้ำเก่าปากคลองลัดพลี ซึ่งเป็นชุมชนริมน้ำเก่าแก่มีอายุมากกว่า 140 ปี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับบรรยากาศวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ บ้านไม้ริมน้ำตลอดสองฝั่งคลองลัดพลี การใช้ชีวิตของผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีนที่อยู่ควบคู่มากับอำเภอดำเนินสะดวกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ที่เริ่มมีการขุดคลองดำเนินสะดวกขึ้นมา

 

 

คำขวัญประจำอำเภอดำเนินสะดวก :
"เมืองสองฝั่งคลองประวัติศาสตร์ เสด็จประพาสต้น ร.5 เลื่องลือชาองุ่นหวาน ชาวบ้านน้ำใจงา
ม"

 

 

 

 



t r i p d a m n o e n . f r e e t z i . c o m
tripdamnoen@hotmail.com

Free Web Hosting